บริการสืบค้น

Custom Search
มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ช่วงที่เหมาะจะมาท่องเที่ยวคือ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุก คลื่นลมแรง

ที่ตั้ง ( Location ) อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยในท้องที่ตำบลกระโสม ตำบลกะไหล ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมืองพังงา และตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 080 04/ – 080 24/ เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 980 04/ - 980 – 36/ ตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 250,000 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกัน ดังนี้

ทิศเหนือ จรดพื้นที่ป่าชายเลนในท้องที่อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
ทิศใต้ จรดทะเลเขตอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และเขตทะเล จังหวัดภูเก็ต
ทิศตะวันออก จรดเขตท้องที่จังหวัดกระบี่
ทิศตะวันตก จรดพื้นที่ป่าชายเลน และที่ชายทะเล ท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอเมืองจังหวัดพังงา

ขนาดพื้นที่
250000.00 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ทิศเหนือ จดพื้นที่ป่าชายเลนในท้องที่อำเภอเมืองพังงา ทิศใต้ จะทะเลเขตอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และเขตทะเลจังหวัดภูเก็ต ทิศตะวันออก จดทะเลเขตท้องที่จังหวัดกระบี่ และทิศตะวันตก จดพื้นที่ป่าชายเลน และที่ชายทะเลท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ลักษณะเป็นภูเขาหินตะกอน หินแปรสลับอยู่เป็นแนวยาว มีภูเขาหินปูนแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป สภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมทำให้เกิดเป็น โพรง ถ้ำ การยุบตัวของแผ่นดินทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะ ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 26 - 28 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 3,500 มิลลิเมตร

สภาพภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ขึ้นอยู่กับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงฝนตกหนักมากระหว่างฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน – มีนาคม มีลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดประจำ บางครั้งอาจถึงเดือนเมษายน ปกติบริเวณอ่าวพังงา จะมีทัศนวิสัยที่ดีมาก เว้นแต่ในช่วงที่มีฝนตกชุก คลื่นลมในทะเล มีคลื่นปานกลางถึงมีคลื่นหนักระหว่างฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทะเลเงียบถึงมีคลื่นเล็กน้อย เว้นเดือนพฤศจิกายน มีคลื่นเล็กน้อย – ปานกลาง บางครั้งอาจมีคลื่นหนัก – หนักมาก

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
พันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ปรากฏว่าสังคมพืชแตกต่างไปตามลักษณะภูมิประเทศลักษณะดินและหิน ความแปรผันของการขึ้นลงของน้ำทะเล กระแสน้ำตลอดจนกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปรบกวนสภาพธรรมชาติ จำแนกออกได้เป็น 5 ประเภท
1. ป่าชายเลน
1.1. ป่าชายเลนบริเวณเขาหินปูน พบว่า มีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลนถึง 12 ชนิด
ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว ตะบูนดำ ประสักแดง ถั่วขาว ถั่วดำ โปรง พังกาหัวสุม
ลำพู ลำแพน รังกะแท้ แสมขาว นอกจากนี้ยังพบต้นจาก ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำ หรือค่อนข้างเป็นดินเลน
และเหงือกปลาหมอ ส่วนปรงทะเลพบน้อยมากบริเวณที่ป่าถูกทำลายเท่านั้น

1.2 ป่าชายเลนบริเวณเขาหินเชลล์ และควอร์ทไซท์ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญอยู่ 7 ชนิด คือ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว ประสักแดง ถั่วขาว ถั่วดำ โปรง สำหรับพันธุ์ไม้ชั้นล่างที่สำคัญคือ เหงือกปลาหมอขึ้นหนาแน่นบริเวณริมน้ำก็มี สำมะนา และหวายตะมอย
1.3 ป่าชายเลนบริเวณเขาหินทราย พันธุ์ไม้ที่สำคัญในบริเวณนี้มีมากน้อยกว่า เนื่องจากสภาพดินเป็นทรายมากเกินไป นอกจากนี้ประกอบกับพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากลมและกระแสน้ำอีกด้วย พันธุ์ไม้ที่สำคัญที่พบมี 5 ชนิด คือ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบเล็ก ลำแพน แสม ตะบูนขาว และฝาด นอกจากนี้มักพบเสม็ด ในบริเวณที่ติดกับป่าบกซึ่งน้ำมีความเค็มค่อนข้างต่ำ

2. ป่าบก ที่พบเป็นประเภทไม้ผลัดใบ ซึ่งจัดเป็นป่าดงดิบชื้น แบ่งได้ ดังนี้
2.1 ป่าบกที่ขึ้นบนพื้นที่เขาหินปูน พบอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ตามเขาหินปูนบริเวณอ่าวพังงามี 2 ประเภท
- ป่าที่ขึ้นอยู่บนบก พื้นที่ค่อนข้างเรียบและบริเวณที่เรียกว่า Karst ซึ่งเป็นบริเวณหุบเขามีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ขี้หนอน เหรียง ตะเคียนหิน มะหาด สีเสียด ทังเขา ไทร จำปาเขา ขี้เหล็ก มะไฟ มะม่วงป่า ไม้นน สมอกานน สองกระดอง มะขาวป้อม ชะมวง ชุมแสง ยอป่า มะเดื่อ ปอเซ่ง เปล้า และชุมเห็ด สำหรับไม้ชั้นล่าง ได้แก่ เต่าร้าง เตย ลำเพ็ง ขิง ข่า ไผ่ป่า นอกจากนี้ยังมีพวกหญ้า ปาล์ม และว่านชนิดต่าง ๆ ด้วย
- ป่าที่ขึ้นอยู่บนพื้นที่ค่อนข้างชื้นของหินปูน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีขนาดเล็กเตี้ย ยกเว้นบริเวณซอกหินเท่านั้น ที่มีธาตุอาหารสูง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนทอง เขากวาง กาหยี มะกอก เขา ตะแบก
2.2 ป่าที่ขึ้นอยู่บริเวณพื้นที่เขาหินเชลล์และควอทไซท์ พบว่ามีพันธุ์ไม้ขึ้นค่อนข้างหนาแน่นมีการปกคลุมของเรือนยอด ประมาณ 70 – 90 % จะพบไม้ยางนาขึ้นอยู่กระจัดกระจาย และยังพบพันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ มังตาล พังกา ไม้ทังคาย ส่วนพืชชั้นล่างก็พบพวก ไผ่ป่า หญ้าพังเหร

3. สังคมพืชน้ำ
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่น้ำ ดังนั้นสังคมพืชน้ำจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพืชน้ำ โดยเฉพาะสาหร่าย จะขึ้นอยู่ตามต้นหรือรากของต้นแสม โกงกาง หรือขึ้นอยู่บริเวณชายหาดตามผิวดิน อาจจะเกาะตามหินหรือเปลือกหอย ซึ่งสาหร่ายก็แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ สาหร่ายสีน้ำตาล สีเขียว สีแดง และนอกจากนี้ยังพบพวกหญ้าทะเล แพลงตอน อีกด้วย ซึ่งจะมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลในด้านการเป็นอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยหรือวางไข่ของสัตว์น้ำนานาชนิด
- พันธุ์พืชหายาก ในที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงามีกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองพังงา ซึ่งพบได้ยาก โดยจะขึ้นอยู่บริเวณตามหน้าผา ซอกหินสูง บนเขาหินปูน ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100 เมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกตั้งตรง มีจนสั้นปกคลุมเมื่อดอกบานเต็มที่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 – 8 ซม. มีกระเปาะสีนวลขาว จะออกดอกประมาณเดือน เมษายน - สิงหาคม และพฤศจิกายน - ธันวาคม

พันธุ์สัตว์

ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีสัตว์อยู่หลายชนิด ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ปีก แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีมากถึง 27 ชนิด ได้แก่ ลิงแสม ชะนี ค่างแว่นถิ่นใต้ กระรอกปลายหางดำ เลียงผา กระจ้อน นากใหญ่ขนเรียบ หมูเหม็นหรือสาโท กระแตธรรมดา ลิ่นหางยาว หนูท้องขาว หนูหริ่ง นากหางยาว เป็นต้น

2. นก พบจำนวน 120 ชนิด ได้แก่ นกยางเขียว เหยี่ยวแดง นกออก นกหัวโตพันธุ์มลายู นกเปล้าคอสีม่วง นกบั้งรอกเล็กท้องเทา นกนางแอ่นกินรัง นกกระเด็นน้อยธรรมดา นกโกงกางหัวโต นกขมิ้นหัวดำเล็ก เป็นต้น

3. สัตว์เลื้อยคลาน พบทั้งสิ้น 26 ชนิด ได้แก่ เต่าหับ เต่าแดงหรือเต่าใบไม้ เต่าดำหรือเต่าแก้มขาว จิ้งจกหางหยาบ กิ้งก่าบินปีกสีส้ม กิ้งก่าแก้ว แย้ เหี้ย ตะกวดหรือแลน จิ้งเหลนบ้าน จิ้งเหลนต้นไม้ งูทางมะพร้าว งูปล้องหรืองูตามธาร งูสร้อยเหลือง งูปากกว้างน้ำเค็ม งูลายสาบดำขาว งูลายสายคอแดง เป็นต้น

4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 4 ชนิด ได้แก่ กบน้ำเค็ม หรือกบน้ำกร่อย กบหนอง กบนาหรือกบเนื้อ และเขียดตะปาด

5. ปลา ประกอบด้วยปลาทะเลนานาชนิดตามบริเวณป่าชายเลน ปากน้ำทะเลและพื้นน้ำทะเล เท่าที่สังเกตพบมี ปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาไหลทะเล ปลาจาระเม็ด ปลาเก๋า ปลากระบอก ปลากระพง ปลาตีน ปลาดุกทะเล และปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณแห่งปะการังหลายชนิด เช่น ปลาในสกุลปลาผีเสื้อ และปลามีค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ปลาในสกุลปลาทู

6. สัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่มีจำนวนมาก นอกจากสัตว์ป่าและปลาหลายชนิดต่างๆ ที่กล่าวมา ยังมีสัตว์น้ำที่สำคัญและมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และทางด้านนันทนาการ ได้แก่ สัตว์ประเภทกุ้ง หอย และ สัตว์ชั้นต่ำ ประเภทไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกปะการังอีกหลายชนิด เท่าที่พบในบริเวณอ่าวพังงา ได้แก่ ปะการังหนาม ปะการังพุ่มไม้ ปะการังเขากวาง นอกจากนี้ยังพบกุ้งอยู่ประมาณ 14 ชนิดอีกด้วยได้แก่ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาลาย กุ้งหางเหลืองสีฟ้า กุ้งตะกวด กุ้งตะเข็บหรือกุ้งลาย กุ้งรู กุ้งตะเข็บมี 2 ชนิด คือ กุ้งเคย และกุ้งกระต่อม เป็นต้น

การเดินทาง
การเดินทาง ไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงานั้น สามารถเริ่มต้นจากจังหวัดพังงาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 มุ่งหน้าไปทางใต้สู่จังหวัดภูเก็ต ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร มีทางแยก เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4144 ไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จากทางแยกประมาณ 2.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาจะมีบ้านพัก ร้านอาหาร และท่าเรือ ไว้สำหรับบริการทุกท่านค่ะ
อยู่ริมถนนเพชรเกษม ตำบลตากแดด จากตัวเมืองพังงา อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 33 (เยื้ององค์การโทรศัพท์จังหวัดพังงา) มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกปรอดหัวโขนเคราแดง นกแก็บ นกแสก เหยี่ยวแดง ไก่ฟ้าสีทอง นกยูงไทย-อินเดีย นอกจากนี้ยังมีเลียงผา เม่น ชะนี ลิง ค่างดำ หมี เป็ด เปิดให้เข้าโดยไม่เสียค่าเข้าชมทุกวัน เวลา 08.30–16.30 น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าถึง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา โทร. 0 7641 3261
ถนนเขาช้าง ริมถนนเพชรเกษม เยื้องศาลากลางจังหวัด เป็นสวนสาธารณะที่มีทัศนียภาพสวยงาม มีรูปหล่อโลหะของ “สมเด็จย่า” ในท่าทรงประทับยืนอยู่กลางสวน ช่วงเย็น ๆ จะมีประชาชนมาออกกำลังกายและพักผ่อนกันมาก