บริการสืบค้น

Custom Search
อยู่ตำบลสองแพรก มีพื้นที่ 100,000 ไร่ ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มีน้ำตกโตนปริวรรต หรือชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกสองแพรกห่างจากเขตรักษาพันธุ์ฯ 100 เมตร เป็นน้ำตกไม่สูงนักเบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำที่ยังมีเศษแร่ตกค้างอยู่ ช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลแรง มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ตามเส้นทางสามารถจะเห็น บัวผุด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดในโลก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร เป็นพืชกาฝากเกาะกินรากไม้เถาชื่อ ย่านไก่ต้ม กลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีน้ำตาลแดง เป็นพืชที่หาดูได้ยากจะเกิดเฉพาะป่าที่มีความสมบูรณ์ ออกดอกปลายหน้าฝนประมาณเดือนตุลาคม นอกจากนั้นตามเส้นทางจะสังเกตุเห็น เหมืองเก่าร่องรอยแห่งอดีต จุดดูนก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่า ผ่านน้ำตกหินเพิง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นต้น การเดินศึกษาต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันมีบริษัทนำเที่ยวจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งนั่งช้างผ่านป่าชมธรรมชาติสองข้างทางของลำธารซึ่งยังคงความบริสุทธิ์ของป่าที่ยังไม่มีใครเข้าไปรุกราน และล่องแก่ง ที่นี่มีเกาะแก่งมากทำให้สนุกสนานและตื่นเต้นเหมาะสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย โดยใช้เวลาในการล่องแก่งประมาณ 45 นาที และสามารถล่องได้ตลอดทั้งปี



ที่พัก มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง และมีที่กางเต็นท์โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต หมู่ 2 ตำบลสองแพรก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000

การเดินทาง รถยนต์
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 4 เลี้ยวขวาที่บ้านสองแพรกเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร รถโดยสารประจำทาง สามารถนั่งรถสายกรุงเทพฯ-พังงา มาลงที่สถานีเดินรถโดยสารประจำทางจังหวัดพังงาแล้วทางเจ้าหน้าที่เขตฯ จะมารับ โดยต้องติดต่อล่วงหน้า 
เมืองที่สงบเงียบดูเรียบง่าย เป็นอำเภอที่มีภูเขารูปลักษณะสวยงามแปลกตาตลอดเส้นทาง ภูเขาเหล่านี้มีต้นไม้เขียวครึ้มขึ้นปกคลุม ทำให้ดูชุ่มชื้นและเย็นสบาย มีถนนหนทางที่สะอาด ตึกสองข้างทางยังเป็นตึกเตี้ย ๆ ที่ไม่บดบังความสวยงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ เป็นเมืองที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเรียบง่ายในการพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติไม่มีแสงสี และก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองพังงา จะมองเห็น เขารูปช้างสูงตระหง่านแต่ไกล ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด 
จากพงศาวดารปรากฏว่าก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เมืองพังงาเป็นเมืองแขวงขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็นฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตี จึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมือง และให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรกในปี 2383 ต่อมาเมืองตะกั่วทุ่งถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ประชุมเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตจึงมีมติให้ยุบเมืองตะกั่วป่าขึ้นกับจังหวัดพังงาด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 เป็นต้นมา แรกเริ่มที่ตั้งเป็นเมืองนั้นสถานที่ราชการอยู่ที่บ้านชายค่าย ต่อมา พ.ศ. 2473 จึงได้มาสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้าง ครั้น พ.ศ. 2515 จึงได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณหน้าถ้ำพุงช้างจนถึงปัจจุบัน

จังหวัดพังงาแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอคุระบุรี อำเภอทับปุด อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง และอำเภอเกาะยาว


พังงา เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีพื้นที่ 4,170.895 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 788 กิโลเมตร ชื่อของจังหวัดพังงานั้นเดิมน่าจะเรียกว่า “เมืองภูงา” ตามชื่อเขางา หรือเขาพังงา ซึ่งอยู่ในตัวเมืองพังงาในปัจจุบัน เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงเรียกกันว่า “เมืองภูงา” เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองเป็นคู่กับเมืองภูเก็ตมาแต่เดิมก็ได้ แต่เหตุที่เมืองภูงากลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากเมืองภูงาเป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรณ์จึงมีฝรั่งมาติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และฝรั่งเหล่านี้คงจะออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมือง “พังงา” เพราะแต่เดิมฝรั่งเขียนเมืองภูงาว่า PHUNGA หรือ PUNGA ซึ่งอาจอ่านว่า ภูงา หรือจะอ่านว่า พังงา หรือ พังกา ก็ได้